9เคล็ด(ไม่)ลับ การเตรียมตัวก่อนให้อาหารทางสายยาง
สำหรับผู้ดูแลรายใหม่ ที่ตัดสินใจดูแลผูป่วยเองที่บ้าน อาจยังไม่คุ้นเคยกับขั้นตอนการให้อาหารทางสายยางสำหรับผู้ป่วย
วันนี้หมอขอเเชร์...9เคล็ด(ไม่)ลับ การเตรียมตัว ก่อนให้อาหารทางสายยาง ลองนำไปใช้กันดูนะคะ
- เตรียมของเครื่องใช้ในการให้อาหารทางสายยาง อาหารเหลวและยาที่เตรียมให้ผู้ป่วย >> ดูภาพประกอบได้ที่บทความก่อนหน้า
- ล้างมือให้สะอาด หรือใช้ waterless 20 – 30 วินาทีและสวมถุงมือ
- จัดท่าผู้ป่วย ในผู้ป่วยที่ไม่มีข้อห้ามในเรื่องการจัดท่าศีรษะสูง ดูแลจัดท่าผู้ป่วยนั่งพิงสบายหรือศีรษะสูง 30-45 องศา ในรายที่นั่งไม่ได้อาจจัดท่านอนตะแคงขวาแทน เพื่อลดโอกาสผู้ป่วยขย้อนอาหารออกมา จากการที่กระเพาะอาหารที่อยู่ด้านซ้ายของผู้ป่วยถูกกดทบจากการจัดท่านอนตะแคงทับร่างกายซีกซ้าย
- จัดท่าผู้ป่วย ในรายที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวควรให้หนุนหมอน ตั้งแต่หลังจนถึงศีรษะโดยใช้หมอน 2 ใบใหญ่หรือจัดให้ผู้ป่วยนั่งพิงพนักเตียงหรือให้นั่งเก้าอี้
- ในผู้ป่วยที่เจาะคอมีท่อหายใจ ให้ดูดเสมหะในหลอดลมคอก่อน ป้องกันภาวะแทรกซ้อน ปอดอักเสบจากการสำลักอาหารและ ล้างมืออย่างถูกวิธีภายหลังดูดเสมหะให้ผู้ป่วย
- เปิดจุกปลายสายให้อาหารและเช็ดรอบรูเปิด ด้วยแอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำต้มสุก
- ตรวจสอบตำแหน่งของปลายสายให้อาหาร โดยต่อหัวกระบอกให้อาหาร (Syringe feeding) เข้ากับรูเปิดของสายให้อาหารโดยสำรวจให้กระชับและแน่น แล้วค่อยๆดูดจะพบมีน้ำย่อยหรืออาหารที่กำลังย่อยหากไม่พบต้องตรวจสอบโดยการฟังเสียงของอากาศ 15-20 มิลลิลิตรที่ใส่ผ่านสายยางให้อาหารเข้าไปในกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็ว
- หากเป็นผู้ป่วยที่ได้รับอาหารทางสายยางในมื้อก่อนหน้ามาก่อน ให้ดูดทดสอบปริมาณของเหลวที่เหลือค้างในกระเพาะอาหาร ถ้าปริมาณของเหลวเหลือค้าง 200 มิลลิลิตร จึงให้อาหารมื้อถัดไปตามปกติได้ โดยมีการเฝ้าระวังและสังเกตอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิด
- หากมีอาการปวดท้อง ท้องอืดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล เพื่อสืบค้นสาเหตุของปัญหาดังกล่าว โดยของเหลวที่เหลือค้างในกระเพาะอาหารที่ดูดออกมาควรใส่กลับคืนทั้งหมด โดยปริมาณไม่ควรเกิน 200-300 มิลลิลิตร หากของเหลวเกิน 200-300 มิลลิลิตรต้องหยุดให้อาหารทางสายยางชั่วคราวและปรึกษาแพทย์
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ 9 ขั้นตอนง๊ายง่าย แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ดูแลหรือญาติ จะต้องเรียนรู้วิธีการจัดเตรียมและให้อาหารทางสายยางเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับอาหารที่ถูกต้องและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะให้อาหารค่ะ
อ่านเพิ่มเติม
- Step by step : 9 ขั้นตอนการใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูก
- แนะนำข้อมูล-การใช้สายยางให้อาหารในผู้ป่วย
- อุปกรณ์สำหรับใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูก (พร้อมภาพประกอบ)
- คู่มือจัดการ ภาวะท้องอืดหลังผู้ป่วยได้รับอาหารทางสายยาง
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท