Step by step : 9 ขั้นตอนการใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูก
การใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูกเป็นวิธีการที่ใช้เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้ด้วยตนเอง หรือมีปัญหาในการกลืน การใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูกจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ
แต่การใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูกสำหรับมือใหม่อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น เลือดกำเดาไหลจากปลายสายที่เสียดสีกับผนังเยื่อบุภายในรูจมูก ใส่สายอาหารลงไปผิดตำแหน่งก่อให้เกิดการสำลักอาหารตามมาได้ เป็นต้น แต่ไม่ใช่เรื่องที่ยากหรือน่ากลัวเกินไปค่ะ หมอเชื่อว่าผู้ดูแลทุกท่านสามารถทำได้ ^^
ในบทความนี้ หมอจึงจะมาแนะนำคู่มือขั้นตอนการใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูก แบบ Step by step ลองศึกษากันก่อนลงมือปฏิบัติจริงนะคะ
คู่มือขั้นตอนการใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูก
ก่อนจะเริ่มกัน อย่าลืมเช็คว่าอุปกรณ์พร้อมครบถ้วน คลิกดู: อุปกรณ์สำหรับใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูก
ขั้นตอนที่ 1
อธิบายขั้นตอนให้ผู้ป่วยรับทราบ
“การให้อาหารทางสายยาง จะเป็นการใส่สายยางที่อ่อนนิ่ม เพื่อให้ปลายสายยาง ใส่เข้าไปในกระเพาะอาหารเพื่อให้สามารถใช้อาหารที่มีความเข้มข้นหรือหนืดสูงขึ้น อัตราการให้อาหารที่สูงขึ้น หรือป้อนยาผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถกลืนได้เอง หรือมีความเสี่ยงในการสำลักอาหาร”
ขั้นตอนที่ 2
วัดระยะความยาวที่เหมาะสมก่อน
ทำเครื่องหมายความยาวที่เหมาะสมในการใส่ โดยวัดระยะจากบริเวณลิ้นปี่ (xiphi-sternum) ผ่านติ่งหู ลางถึงจมูก (ระยะทางในผู้ใหญ่ปกติ ประมาณ 50–60 ซม.)
ขั้นตอนที่ 3
หล่อลื่นปลายสายภายนอกด้วยเจล/น้ำ
ขั้นตอนที่ 4
ตรวจสอบความโล่งของรูจมูกก่อนใส่สายเสมอ
ตรวจสอบความโล่งของรูจมูกด้วยการ "ให้ผู้ป่วยสั่งน้ำมูก" โดยสั่งจากรูจมูกแต่ละข้างสลับกัน ควรเลือกใส่ในข้างที่รูจมูกโล่ง ไม่มีอาการคัดจมูก หรือบวม ส่วนอีกข้างสามารถฉีดพ่นด้วยยาพ่นจมูกเพื่อลดความรู้สึกไม่สบาย หรือคัดจมูกได้
ขั้นตอนที่ 5
จัดท่าให้ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
ให้ผู้ป่วยนั่งตัวตรงโดยให้ศีรษะอยู่ระดับเดียวกัน ค่อยๆ เลื่อนปลายสายไปข้างหลังตามพื้นของรูจมูก จนมองเห็นได้ที่ด้านหลังของคอหอย (10-15 ซม.)
ขั้นตอนที่ 6
บอกให้ผู้ป่วยพยายามกลืนน้ำลาย
- หากผู้ป่วยสามารถให้ความร่วมมือได้ ขอให้ผู้ป่วยพยายามกลืนน้ำลาย แล้วเลื่อนท่อเข้าไป 5-10 ซม. ขณะกลืน
- ทำซ้ำการกลืนน้ำลาย เเละเลื่อนปลายสายลึกลงไป จนกว่าเครื่องหมายที่กำหนดความยาวของสายที่กะเกณฑ์ไว้ในขั้นตอนที่ 2
ขั้นตอนที่ 7
สามารถเอาสายยางให้อาหารออกได้เสมอ
- สามารถถอดสายออกได้ทุกเมื่อหากผู้ป่วยมีความทุกข์ เจ็บ รู้สึกอึดอัดที่บริเวณลำคอหรือไอบ่อย
- การไอสำลักบ่อยๆ อาจกิดจากปริมาณอาหารที่ไหลผ่านสายยางเร็วเกินไป อาจแก้ไขโดยลดความเร็วในการให้อาหารทางสายยาง อาจเลือกใช้วิธีการดริปอาหารแทนการปล่อยไหลตามแรงโน้มถ่วง การค่อย ๆ ให้อาหารเหลวทีละนิดจะลดภาวะกระเพาะอาหารหดเกร็งและเกิดการสำลักอาหารได้
ขั้นตอนที่ 8
ตรวจสอบตำแหน่งของท่อก่อนใช้งาน
ตรวจสอบตำแหน่งของสายก่อนใช้งาน โดยปกติไม่จำเป็นต้องใช้เอ็กซเรย์
2 วิธีการทดสอบตำแหน่งของสายว่าอยู่ในกระเพาะอาหาร
- วิธีที่ 1 ใช้กระบอกฉีดยาที่มีข้อต่อ (Syringe irrigate) ต่อเข้ากับปลายสายยางแล้วดูดน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร ถ้าดูดไม่ออกอาจมีการพับงอของสายหรือใส่สายไม่ลึกพอ อาจต้องเลื่อนสายให้ลึกมากขึ้นให้
- วิธีที่ 2 ใช้กระบอกฉีดยาที่มีข้อต่อ (Syringe irrigate) ดันลมประมาณ 5-10 ซีซี (ถ้าเด็กใช้ 1-3 ซีซี) เข้าไปในสายยางใช้หูฟังที่หน้าท้องตำแหน่งบริเวณกระเพาะอาหารและดูดลมออกหลังทดสอบ
ขั้นตอนที่ 9
บันทึกวันที่ในการใส่สายให้อาหาร
บันทึกวันที่ในการใส่สายให้อาหารในสมุดบันทึกข้อมูลของผู้ป่วย เพื่อทราบระยะเวลาในการเปลี่ยนสายครั้งต่อไป รวมถึงควรจดบันทึกขนาดสาย สีของสายยางให้อาหาร ที่ผู้ป่วยใช้ประจำไว้ด้วยค่ะ
กล่าวโดยสรุป
ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และต้องการผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ที่หมอพบปัญหาที่ตามมาในการดูแลคือ ผู้ดูแลมือใหม่ ยังไม่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการให้อาหารทางสายยางที่ถูกต้อง เนื่องจากขาดประสบการณ์ และไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอ
หมอหวังว่า...คู่มือขั้นตอนการใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูก แบบ Step by step นี้จะสามารถช่วยผู้ดูแลให้มั่นใจในการให้อาหารทางสายยางแก่ผู้ป่วยมากขึ้นและช่วยให้ผู้ป่วยติดเตียงไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต
อ่านเพิ่มเติม
- อุปกรณ์สำหรับใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูก (พร้อมภาพประกอบ)
- แนะนำข้อมูล-การใช้สายยางให้อาหารในผู้ป่วย
- คู่มือจัดการ ภาวะท้องอืดหลังผู้ป่วยได้รับอาหารทางสายยาง
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท