การจัดการ "ภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงวัย" ที่บ้าน

การจัดการกับอาการเพ้อสับสนของผู้ป่วย เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวัง และความเข้าใจของผู้ดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง และไม่กระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยในระยะยาว

ภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงวัย

การจัดการกับอาการเพ้อสับสนจึงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ 

  • หากผู้ป่วยมีอาการเพ้อไม่รุนแรง เพียงแค่สับสนเล็กน้อย เช่น รับรู้ไม่ทันเหตุการณ์ เข้าใจผิด ตอบสนองช้าลงบ้าง
    • ผู้ดูแลสามารถให้การช่วยเหลือที่เหมาะสมที่บ้านก่อนได้ เช่น พูดคุยกับผู้ป่วยด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน พูดเป็นคำสั้นๆ เป็นคำๆ เสียงดังฟังชัดและใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย รูปประโยคไม่ซับซ้อน ค่อยๆอธิบายถึงสภาวะที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ให้ผู้ป่วยได้ทำความเข้าใจ และอารมณ์เย็นลง เป็นต้น
  • หากผู้ป่วยมีอารมณ์ไม่ดี กระสับกระส่าย แต่ไม่ถึงขั้นที่ทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่น ผู้ดูแลอาจกล่อมให้ผู้ป่วยนอนหลับก่อนได้
    • แนะนำว่าอาจช่วยเหลือเบื้องต้นโดยการจัดสภาพแวดล้อมในห้องให้เหมาะสม ตอนกลางวันได้รับแสงสว่างเพียงพอ ตอนกลางคืนปิดไฟและผ้าม่านให้มิดชิด ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการค่อยๆบรรเทาลง
    • กรณีนี้อาจไม่จำเป็นต้องพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ก็ได้ 

การจัดการด้านอาหารและน้ำ เพื่อให้ได้โภชนาการที่เหมาะสมและป้องกันการสำลักอาหาร 

  • ในช่วงที่ผู้ป่วยมีภาวะสับสน ควรปรับอาหารให้เป็นอาหารอ่อน ที่ย่อยง่าย เพื่อลดการกระตุ้นให้เกิดการสะสมของแก๊สในลำไส้ ท้องอืดเฟ้อ และไม่สบายตัว
  • ดูแลไม่ให้ผู้ป่วยท้องผูก หรือท้องเสีย เพราะอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการเพ้อสับสนได้
  • ระวังเรื่องการสำลักอาหาร เวลาให้ผู้ป่วยทานอาหารเองหรือหากมีความจำเป็นต้องป้อนอาการ ควรให้เวลาผู้ป่วย ไม่รีบเร่ง และจัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในลักษณะท่านั่งตรง ไม่เอนนอนหรือเอียงตัว เพื่อป้องกันการสำลัก
  • จัดดื่มน้ำสะอาด ปริมาณที่เพียงพอ เนื่องจากภาวะขาดน้ำก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเพ้อได้ง่ายเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อญาติพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ครั้งต่อไปตามนัด -- ควรแจ้งเหตุการณ์สับสนดังกล่าวและวิธีจัดการที่ได้ทำไปให้แพทย์ได้ทราบด้วย เพื่อให้แพทย์ได้ทราบสถานะของผู้ป่วย --

ภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงวัย

หากมีเหตุการณ์เพ้อสับสนบ่อยครั้งมากขึ้น โดยไม่มีสิ่งกระตุ้นชัดเจน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเสื่อมของสมองที่แย่ลง และควรค้นหาสาเหตุเพิ่มเติมให้ทันท่วงที

สนใจอ่านเพิ่มเติม

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท