สาเหตุของภาวะสับสนเฉียบพลันช่วงเย็นหรือพลบค่ำ
ภาวะสับสนเฉียบพลัน (delirium) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงในสติปัญญา หรือการรับรู้ความเป็นจริง โดยผู้ป่วยจะสับสน ไม่รู้เวลา ไม่รู้สถานที่ ไม่รู้ตัวเอง หรือไม่รู้ผู้คนที่ดูแล เป็นต้น อาการเพ้อส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินชีวิตปกติได้
เนื่องจากอาการเพ้อสับสน มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคสมองอยู่เดิม ทั้งโรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น แต่ภาวะสับสนนี้ ก็อาจจะถูกกระตุ้นขึ้นโดยปัจจัยต่างๆได้
แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงพยาธิสภาพของการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันช่วงเย็นหรือพลบค่ำในผู้สูงอายุที่แน่นอน แต่คำอธิบายที่เข้าใจง่าย และเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น คือ ภาวะนี้เกิดจากการทำงานของเซลล์ประสาท suprachiasmatic nucleus (SCN) ที่เสื่อมลง ทำให้การทำงานของวงจรชีวิตและระบบประสาทที่ควบคุมวงจรชีวิต วัฏจักรการนอน-ตื่น (sleep-wake cycle) นั้นผิดปกติไป
ความเสื่อมของเซลล์ประสาทดังกล่าวพบว่ามีความเชื่อมโยงกับวงจรชีวิตที่ผิดปกติไป ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเช่นกัน
ดังจะพบได้ว่า ภาวะสับสนเฉียบพลันช่วงเย็นหรือพลบค่ำในผู้สูงวัยนั้น อาจเป็น สัญญาณเตือนของโรคสมองเสื่อมระยะต้นได้เช่นกัน
Reference
- Fong, T.G., Inouye, S.K. The inter-relationship between delirium and dementia: the importance of delirium prevention. Nat Rev Neurol 18, 579–596 (2022).
- Martin J, et al. Circadian rhythms of agitation in institutionalized patients with Alzheimer’s disease. Chronobiol Int. 2000;17(3):405-418.
- Oh, E. S., Fong, T. G., Hshieh, T. T. & Inouye, S. K. Delirium in older persons: advances in diagnosis and treatment. JAMA 318, 1161–1174 (2017).
บทความน่าสนใจ
-
ปัญหาการนอนหลับที่พบในผู้ป่วยโรคสมอง (รวมภาค)
-
เช็ครายชื่อยาที่ทำให้ผู้สูงอายุ “นอนไม่หลับ หลับไม่ดี”
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท