เคล็ด(ไม่)ลับ ป้องกันภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุ
เนื่องจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่อาจมีผลกระทบต่อสมรรถภาพทางสมองและความจำของผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลสุขภาพและชีวิตประจำวันให้ดีที่สุด วิธีการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีปัจจัยเสี่ยงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีดังนี้
จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสมและมีความสะดวกสบาย
- ไม่ควรจัดเปลี่ยนสถานที่หรือตกแต่งใหม่จนแตกต่างไปจากเดิม เพราะอาจทำให้เกิดความสับสน หรือไม่สามารถจำได้
- หากจำเป็นต้องเปลี่ยนที่อยู่อาศัยใหม่ เช่น ย้ายไปอยู่บ้านใหม่กับลูก หมอแนะนำว่าอาจพกสิ่งของที่คุ้นเคย เช่น รูปภาพติดผนัง นาฬิกาปลุก โต๊ะข้างเตียงคู่เดิม เพื่อสร้างบรรยากาศที่คุ้นเคยให้กับผู้สูงอายุที่เรารัก เป็นต้น
- จัดแสงให้ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะสับสนเฉียบพลัน ให้ได้ถูกแดดอ่อนๆทุกวันช่วงเช้า เพราะการถูกแดดอ่อนๆ ช่วยให้ผลิตฮอร์โมนเซโรโทนิน เพิ่มความสุขและความผ่อนคลายให้ผู้ป่วย
จัดกิจกรรมให้ผู้สูงวัยได้ทำเป็นประจำ
- ในช่วงกลางวันไม่ควรให้นอนพักเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ผู้ป่วยนอนสั้นลงช่วงกลางคืน หรืออาจถึงขั้นไม่ยอมนอนเลยก็เป็นได้ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเพ้อสับสนช่วงกลางคืนตามมาได้ง่าย
- ช่วงกลางวันอาจจัดกิจกรรมที่ผู้ป่วยชอบทำ หรือที่เป็นประโยชน์เล็กๆน้อยๆให้ผู้ป่วยได้มีส่วนร่วม เช่น ทำงานบ้าน เล่นเกม เขียนบันทึกประจำวัน เป็นต้น จะช่วยให้สมองได้รับการกระตุ้นและฝึกความจำ
- จัดกิจกรรมออกกำลังกายตามที่เหมาะสมกับสุขภาพ และมีการฝึกสมองต่อเนื่องเป็นประจำทุกๆวัน การออกกำลังกายช่วยให้กระแสเลือดไหลถึงสมองได้ดีขึ้น และการฝึกสมองก็ช่วยให้สมองไม่ถูกถดถอยได้
โดยรวมแล้วการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีปัจจัยเสี่ยงให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย มีกิจกรรมที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดภาวะสับสนได้ง่าย จะช่วยให้สมองและความจำของผู้สูงอายุหรือผู้มีปัจจัยเสี่ยง อยู่ในสุขภาวะที่ดีที่สุด และป้องกันอาการเพ้อสับสน และการถดถอยของสมรรถภาพสมองของผู้สูงอายุได้ค่ะ
สนใจอ่านเพิ่มเติม
- สาเหตุของภาวะสับสนเฉียบพลันช่วงเย็นหรือพลบค่ำ
- การจัดการ "ภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงวัย" ที่บ้าน
- ผลกระทบของปัญหาการนอนหลับต่อผู้ป่วยและผู้ดูแล
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท