หลับให้ดี...ดีอย่างไร

ปัญหาการนอนหลับเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีโรคสมอง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะโรคสมองเสื่อม สุขภาพการนอนที่ดี มีผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีโรคสมอง

ปัญหาการนอนหลับ

วันนี้หมอจะขอมาแชร์ว่า...การหลับได้ดี ดีอย่างไร ?

นอนไม่หลับ นอนไม่ดี แม้ดูเป็นปัญหาเล็กน้อย เเต่ส่งผลต่อสุขภาพของตัวผู้ป่วยเอง ส่งผลต่อการดำเนินโรคประจำตัวให้แย่ลง ภูมิคุ้มกันโรคลดลง รวมไปถึงส่งผลต่อญาติผู้ดูแลผู้ป่วย ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ 

เพราะสุขภาพการนอนที่ดีในผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่สำคัญ 

  • การนอนเป็นกิจกรรมที่สำคัญต่อสุขภาพและความสมดุลของร่างกายและจิตใจ การนอนหลับที่ดีจะช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนและฟื้นฟูพลัง ช่วยให้สมองได้ประมวลผลข้อมูลและความทรงจำที่ได้รับในวันนั้น
  • ช่วงเวลานอน ป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการซ่อมแซมเซลล์และฟื้นฟูสภาพร่างกาย  มีการทำงานของระบบฮอร์โมน/ระบบภูมิคุ้มกัน การนอนหลับไม่เพียงแต่สำคัญต่อสุขภาพกายเท่านั้น อีกทั้งยังส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุด้วย
  • เมื่อนอนหลับไม่เพียงพอ หรือนอนได้แต่ไม่มีคุณภาพย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพและประสิทธิภาพในการทำงานและเรียนรู้ได้ลดลง
  • อีกทั้งผู้ป่วยที่วุ่นวายช่วงกลางคืน อดหลับอดนอน หรือหลับได้แต่ไม่ดี ในระยะยาวนั้นพบว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางกายต่างๆตามมา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวานและโรคซึมเศร้า
นอนไม่หลับ มีผลต่อความจำ
การจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ต้องใช้ความร่วมมือระหว่างผู้ป่วย, ผู้ดูแล, และบุคลากรทางการแพทย์ อันดับแรกผู้ป่วยแลผู้ดูแลต้องตระหนักถึงปัญหา รู้ว่ามีความสำคัญ รู้ว่าเป็นการนอนไม่ดีเเบบไหน และสาเหตุของแต่ละบุคคลนั้นคืออะไร เพื่อนำไปสู่การรักษาให้ถูกต้องตรงจุดนั่นเอง

ภาวะนอนไม่ดีของผู้สูงอายุ แม้ดูเป็นปัญหาเล็กน้อย เเต่ไม่ควรปล่อยปละละเลย... เนื่องจากในที่สุด ปัญหาดังกล่าว อาจนำไปสู่ความเหน็ดเหนื่อย Burn out ของผู้ดูแลโดยไม่รู้ตัว

  • เมื่อผู้ดูแลต้องตื่นมาดูแลผู้ป่วยตอนกลางคืน ทำให้ไม่สามารถพักผ่อนได้เพียงพอ ต้องตื่นตามผู้ป่วยที่นอนไม่หลับตอนกลางคืน เช้ามาจึงมักมีอารมณ์หงุดหงิด และไม่พร้อมในการช่วยดูแลผู้ป่วนตอนกลางวัน
  • ความเหนื่อยที่สะสม ต่อเนื่องนี้เอง จะบั่นทอนความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และไม่มีใครอยากทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย เพราะไม่ได้พักทั้งกลางวันและกลางคืน
  • และท้ายที่สุด ปัญหาเล็กๆนี้ย่อมเร่งนำไปสู่การส่งผู้สูงอายุเข้าพักในสถานบริบาล (nursing home) ในเวลาต่อมาได้ 

บทความน่าสนใจ

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท