แนวทางการรักษาปัญหาการนอนหลับในผู้ป่วยโรคสมอง
การนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคสมอง ผู้ป่วยโรคสมองอาจมีปัญหาการนอนหลับหลังจากเจ็บป่วย ซึ่งเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อาการเครียด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนสมองเอง รวมไปถึงยาที่รับประทาน ส่งผลให้รูปแบบการนอนหลับนั้นเปลี่ยนไป การรักษาปัญหาการนอนหลับในผู้ป่วยโรคสมองจึงต้องพิจารณาถึงสาเหตุ ผลกระทบ และวิธีการรักษาที่เหมาะสม
ในบทความนี้ หมอขอจะแนะนำแนวทางการรักษาปัญหาการนอนหลับในผู้ป่วยโรคสมอง โดยจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม
บางทีการแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ อาจไม่ได้ต้องใช้ยา เพียงแต่ปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม ยกตัวอย่างการปรับพฤติกรรม เช่น
- พยายามจัดเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้ประมาณเวลาเดียวกันทุกวัน เพื่อสร้างความเคยชินของร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงวัน
- ปรับกิจกรรมช่วงใกล้เวลาเข้านอนเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ โดยการฟังเพลง เล่นเกม เขียนบันทึกประจำวัน หรือทำสมาธิ
- ปรับเวลารับประทานอาหารและเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม ไม่ควรกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่กระตุ้น เช่น ช็อกโกแลต ชา กาแฟ ใกล้เวลาเข้านอน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- แต่ไม่ควรออกกำลังกายใกล้เวลานอนมาก เพราะจะทำให้ร่างกายและสมองตื่นตัวช่วงเย็น-กลางคืนมากเกินไป และจะทำให้นอนไม่หลับได้
- หลีกเลี่ยงการขบคิดปัญหาต่างๆ ช่วงก่อนเข้านอน
- ใช้เตียงนอนสำหรับการนอนหลับเท่านั้น ถ้าไม่สามารถนอนหลับได้ ให้ลุกออกจากเตียงและทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายที่โต๊ะ หรือที่โซฟาแทน ไม่ควรทำกิจกรรมอื่น เช่นเล่นโทรศัพท์มือถือ อ่านหนังสือที่เตียงนอน
- สร้างบรรยากาศ จัดห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอน เงียบ สบาย ไม่มีแสงรบกวน โดยลองปิดไฟ ลดเสียงดัง ปิดทีวี คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์
ถ้าปรับพฤติกรรมแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจสอบสาเหตุของปัญหาการนอนหลับไม่ดี แพทย์อาจแนะนำการใช้ยารักษาระยะสั้นๆ
อย่างไรก็ตามควรพบแพทย์เพื่อให้ได้การรักษาที่เหมาะสมก่อน
ไม่ควรซื้อยานอนหลับทานเอง โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะอาจส่งผลต่อการติดยานอนหลับและส่งผลเสียต่อสมองในระยะยาวได้
การใช้ยา
- ส่วนนี้แนะนำปรึกษาแพทย์ประจำตัว หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง หรือ การนอนหลับเพื่อประเมินความจำเป็นเพิ่มเติมก่อนเริ่มยานะคะ
การบำบัดการนอน
- Relaxation therapy (การบำบัดด้วยการผ่อนคลาย): เป็นกิจกรรมที่พยายามทำให้รู้สึกผ่อนคลายลง รวมถึงการพยายามมุ่งเน้นไปที่ความคิดที่ทำให้สบายใจในสถานการณ์ที่สงบ การบำบัดด้วยการผ่อนคลายจะทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
- Cognitive therapy (การบำบัดโดยการประมวลความคิด):
- มีหลายคนที่มีความเชื่อและเจตคติที่ผิดเกี่ยวกับการนอนหลับ บางคนคิดว่าเป็นสิ่งที่ผิดหากนอนหลับน้อยกว่า 8 ชั่วโมง
- Cognitive therapy ใช้กระบวนการของการใช้เหตุผลเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดนี้ ซึ่งจะช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น และลดความกังวลในช่วงกลางวันและการตื่นในช่วงกลางคืน
โดยสรุป
ปัญหาเรื่องนอนไม่หลับนี้เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยทั้งในคนปกติและคนที่มีโรคประจำตัว และอาจบ่งบอกถึงอาการของโรคสมองและระบบประสาทได้ การวินิจฉัย และหาสาเหตุนั้น แพทย์จำเป็นต้องได้รับข้อมูลประวัติการนอนหลับที่ละเอียด รวมถึงประวัติการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้อง อาจมีการตรวจการนอนหลับด้วยเครื่อง Polysomnography
การรักษาหลักที่ใช้รักษา คือ การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการนอน การรักษาด้วยยานอนหลับควรใช้เฉพาะผู้ที่มีอาการเรื้อรังหรือมีปัญหาโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วยเท่านั้น
บทความน่าสนใจ
- ผู้สูงอายุ นอนกี่ชั่วโมงถึงพอดี?
- Do or Don’t การงีบหลับระหว่างวันในผู้สูงอายุ
- แนวทางการป้องกันและดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนหลับ
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท