เช็ครายชื่อยาที่ทำให้ผู้สูงอายุ “นอนไม่หลับ หลับไม่ดี”

เพราะการนอนถูกควบคุมด้วยสมอง สมองมีการหลั่งสารต่างๆ เช่นอะดีโนซีนที่สะสมมาตลอดช่วงกลางวันทำให้รู้สึกง่วงช่วงกลางคืน ยาที่อาจทำให้นอนไม่หลับส่วนใหญ่มักผ่านเข้าไปในสมองแล้วส่งผลรบกวนกระบวนการหลับ ผ่อนคลายของสมองด้วยวิธีดังกล่าว

เช็ครายชื่อยาที่ทำให้ผู้สูงอายุ “นอนไม่หลับ หลับไม่ดี”

ยกตัวอย่างเช่น ยามีฤทธิ์กระตุ้นสมองโดยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทให้ตื่นตัว ยากลุ่มนี้จะไปลดการทำงานของสารสื่อประสาทที่ช่วยให้หลับ เป็นต้น 

พบว่ายาหลายชนิดที่ใช้ในการรักษาโรค อาจทำให้เกิดปัญหาการนอนหลับ ในความรุนแรงที่แตกต่างกัน  ยาบางชนิด ทำให้นอนไม่หลับ บางชนิดทำให้หลับไม่สนิท และบางชนิดทำให้ระยะเวลาหลับลดลง

  • ผู้ป่วยที่มีโรคปอด

ยาที่ใช้ในการรักษาความผิดปกติของการหายใจที่พบบ่อย เช่น ยารักษาโรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพองเรื้อรัง รวมถึงยาพ่น หรือยารับประทาน ที่อาจมีสเตียรอยด์ผสม และยา theophylline สามารถทำหน้าที่เป็นสารกระตุ้นและทำให้นอนหลับยาก  

  • ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ

ยาโรคหัวใจบางชนิด ทำให้นอนไม่หลับและ ฝันร้าย เช่น ยากลุ่ม Beta-Blocker ที่ผู้ป่วยมักมาปรึกษาบ่อยๆ เช่น Metoprolol Propranolol Nebivolol Carvedilol เป็นต้น เนื่องจากยากลุ่มนี้นอกจากจะยับยั้งการเต้นผิดจังหวะของหัวใจแล้ว ยังยับยั้งการหลั่งสารสื่อประสาท ที่ชื่อว่า เมลาโตนิน (melatonin) ที่เป็นสารทำให้ง่วงนอนอีกด้วย 
  • ผู้ป่วยที่มีโรคข้ออักเสบ

ยากลุ่มนี้มักมีส่วนผสมแอสไพริน หรือตัวยาที่คล้ายกันอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้ปวดท้องตอนกลางคืน และ/หรือ กรดไหลย้อน ทำให้รบกวนการนอนหลับ 

  • ผู้ป่วยที่มีโรคซึมเศร้า

ยาต้านเศร้าบางชนิดสามารถนำไปสู่การนอนไม่หลับ กระวนกระวาย หรือเกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติช่วงนอนหลับ (RBD) ได้ โดยเฉพาะ ยาในกลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs)ได้แก่ Paroxetine Fluoxetine Sertraline Citalopram เป็นต้น 

หลายคนเชื่อแบบผิดๆ ว่า ยาที่ซื้อได้เองจากร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งยา จะไม่มีผลข้างเคียง

อันที่จริง ยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน, ยาบรรเทาอาการปวดที่มีคาเฟอีน และยาแก้แพ้ เป็นตัวอย่างของยาที่สามารถซื้อหาได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป ที่สามารถมีผลกระทบอย่างมากในการนอนหลับ นอนไม่หลับช่วงกลางคืนและอาจส่งผลให้ง่วงช่วงกลางวัน หรือหลับเยอะตอนกลางวันได้

Drug induced insomnia

เมื่อพบว่ายาตัวใด ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ แพทย์อาจปฏิบัติดังนี้

  • ปรับลดขนาดยา
  • เปลี่ยนเวลารับประทานยา เช่น เปลี่ยนเป็นช่วงเช้า
  • เปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่น
  • ให้ยาช่วยหลับ ในบางกรณี

แต่ไม่ว่ายาจะมีผลต่อการนอนหลับอย่างไร ยาหลายชนิดที่แพทย์สั่งให้รักษาโรคก็มีความจำเป็น ไม่ควรหยุดยาเองอย่างกะทันหัน 

ถ้าคุณนอนหลับยากและเชื่อว่ายาที่ใช้อาจเป็นต้นเหตุ หมอแนะนำว่าให้นำยานั้นพกไปปรึกษาแพทย์ก่อนว่าเป็นยาต้นเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับจริงหรือไม่ และยานั้นสามารถหยุดรับประทานยาได้หรือไม่ก่อนทุกครั้ง

บทความน่าสนใจ 

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท

Reference

  • Sangal R, Owens J, Allen A, Sutton V, Schuh K, Kelsey D. Effects of Atomoxetine and Methylphenidate on Sleep in Children With ADHD. Sleep. 2006;29(12):1573-1585.
  • Van Gastel A. Drug-Induced Insomnia and Excessive Sleepiness. Sleep Medicine Clinics. 2018;13(2):147-159.
  • Wichniak A, Wierzbicka A, Wal?cka M, Jernajczyk W. Effects of Antidepressants on Sleep. Current Psychiatry Reports. 2017;19(9).
  • Foral P, Knezevich J, Dewan N, Malesker M. Medication-Induced Sleep Disturbances. The Consultant Pharmacist. 2011;26(6):414-425.