ภาวะสับสนเฉียบพลัน ช่วงเย็นหรือพลบค่ำ ในผู้สูงอายุ (sundowning syndrome)

ญาติหลายท่านมาปรึกษาหมอว่า “คุณพ่อคุณแม่หรือผู้สูงอายุที่บ้านช่วงเย็นๆ จะมีอาการสับสน พูดคุยไม่รู้เรื่อง เหมือนเหม่อๆไป เรียกไม่รู้ตัว เเต่ตอนเช้าตื่นมาก็สดชื่อปกติดี ไม่รู้ว่าคุณพ่อคุณเเม่เป็นอะไร” 

ภาวะสับสนเฉียบพลัน ช่วงเย็นหรือพลบค่ำ ในผู้สูงอายุ

ภาวะสับสน อารมณ์แปรปรวน หรือพฤติกรรมที่ผิดแปลกไป ที่เกิดขึ้นช่วงก่อนพระอาทิตย์ตก 2-3 ชั่วโมง ช่วงพลบค่ำ หรือกระทั่งหลังพระอาทิตย์ตกลักษณะนี้ เรียกว่า sundowning syndrome 

  • อาการดังกล่าวเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีปัญหาด้านสมองอยู่เดิม และพบมากในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ จากรายงานพบว่าผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา พบอัตราภาวะสับสนเฉียบพลัน ช่วงเย็นหรือพลบค่ำในอัตราสูงถึง 10-25 % เลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตาม เมื่ออาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ยังไม่ควรบอกว่าเป็นเพราะความเสื่อมตามธรรมชาติของผู้สูงอายุ อันดับแรก ควรหาสาเหตุเพิ่มเติมก่อน ว่ามีความเจ็บป่วยใดแทรกซ้อนหรือไม่ ที่กระตุ้นให้อาการดังกล่าวเกิดขึ้น หรือรุนแรงขึ้นกว่าปกติ

วันนี้หมอจะมาเล่าให้ฟังว่า อาการดังกล่าว ด้วยความรู้ปัจจุบัน

  • เราทราบว่ามันเกิดจากอะไร?
  • ผู้สูงอายุท่านไหนมีความเสี่ยงในการเกิดอาการดังกล่าวบ้าง?
  • ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหรืออาการแย่ลงคืออะไร?
  • อาการเท่าไหนที่สามารถสังเกตอาการเองที่บ้านได้ หรืออาการใดที่จำเป็นต้องรีบพามารพ.? 

ตามมาอ่านกันเลยค่ะ 

เลือกอ่าน…

  1. สาเหตุของภาวะสับสนเฉียบพลันช่วงเย็นหรือพลบค่ำ 
  2. ใครบ้างมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันดังกล่าว 
  3. ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหรืออาการแย่ลงคืออะไร
  4. การจัดการกับภาวะสับสนเฉียบพลันเบื้องต้นที่บ้าน
  5. เมื่อผู้สูงอายุที่บ้านมีอาการเพ้อสับสน เมื่อไรควรพามาพบแพทย์
  6. เคล็ดลับ ป้องกันภาวะสับสนเฉียบพลัน ช่วงเย็นหรือพลบค่ำ ในผู้สูงอายุ

สาเหตุของภาวะสับสนเฉียบพลันช่วงเย็นหรือพลบค่ำ  

สาเหตุของภาวะสับสนเฉียบพลันช่วงเย็นหรือพลบค่ำ

แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงพยาธิสภาพของการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันช่วงเย็นหรือพลบค่ำในผู้สูงอายุที่แน่นอน แต่คำอธิบายที่เข้าใจง่าย และเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น คือ ภาวะนี้เกิดจากการทำงานของเซลล์ประสาท suprachiasmatic nucleus (SCN) ที่เสื่อมลง ทำให้การทำงานของวงจรชีวิตและระบบประสาทที่ควบคุมวงจรชีวิต วัฏจักรการนอน-ตื่น (sleep-wake cycle) นั้นผิดปกติไป

ความเสื่อมของเซลล์ประสาทดังกล่าวพบว่ามีความเชื่อมโยงกับวงจรชีวิตที่ผิดปกติไป ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเช่นกัน

ดังจะพบได้ว่า ภาวะสับสนเฉียบพลันช่วงเย็นหรือพลบค่ำในผู้สูงวัยนั้น อาจเป็น สัญญาณเตือนของโรคสมองเสื่อมระยะต้นได้

ใครบ้างมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันดังกล่าว 

ใครบ้างมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลัน
  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีการเสื่อมของระบบประสาทและร่างกาย
  • ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม หรือโรคสมองอื่นๆ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
  • ผู้ที่เคยมีอาการสับสนเฉียบพลันมาก่อน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพบว่ามีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนที่อยู่อาศัย ไปอยู่บ้านญาติ สถานที่ๆไม่คุ้นเคย
  • ผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้า เนื่องจากมีการลดลงของสารหลั่งในสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำและความตื่นตัว
  • ผู้ที่มีการมองเห็นผิดปกติ เช่น ผู้ที่มีต้อกระจก สายตาฝ้าฟาง อาจมีภาวะสับสนแบบเห็นภาพหลอน เห็นคนตาย 
  • ผู้ที่มีการได้ยินผิดปกติ มีหูอื้อหูตึง อาจเกิดหูแว่ว ได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริงได้ง่าย 
  • ผู้ที่สูญเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง เช่น เดิน เคลื่อนไหว เป็นต้น
  • ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด หรือนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวรุนแรง หรือเจ็บป่วยในระยะสุดท้าย เป็นต้น

ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหรืออาการแย่ลงคืออะไร

ภาวะสับสนเฉียบพลันเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ควรได้รับการประเมินสาเหตุเพิ่มเติมก่อน เนื่องจากภาวะสับสนเฉียบพลันดังกล่าว อาจเป็นอาการนำมาของความเจ็บป่วยอื่นที่ซ่อนอยู่ เช่น 

  • การติดเชื้อ  

    • ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่ปอด แต่ในผู้สูงอายุ การติดเชื้อที่ก่อให้เกิดภาวะสับสนอาจเป็นเพียงแค่การติดเชื้อเบาๆ เช่น หวัดธรรมดา ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะสับสนได้ ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสมองเป็นพื้นฐานเดิมอยู่ 
  • ยาที่ได้รับมาใหม่ หรือยาเดิมที่เพิ่มขนาดสูง

    • จำพวก ยาลดน้ำมูก ยาคลายกล้ามเนื้อแก้ปวด ยานอนหลับ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคพาร์กินสัน เป็นต้น
    • ดังนั้นเมื่อไปปรึกษาแพทย์เรื่องสับสนในผู้สูงอายุจึงควรนำยาที่ทานประจำ และยาตัวใหม่ที่เพิ่งได้รับมา ไปให้แพทย์ที่ดูแลช่วยดูด้วยนะคะ
  • ความผิดปกติของเกลือแร่ และน้ำในร่างกาย

    • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานเดิม ทานยาตัวเดิม แต่มีความเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆที่ทำให้ทานอาหารได้น้อย จึงก่อให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติไปได้  หรือในผู้ป่วยโรคไตวายที่มีระดับเกลือแร่ผิดปกติได้ง่าย เป็นต้น
  • สาเหตุที่รุนแรง

    • จำพวกความผิดปกติของระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคปอด
    • บางครั้งผู้ป่วยไม่สามารถแสดงอาการ หรือบอกออกมาเป็นคำพูดได้ จึงทำให้เกิดความไม่สุขสบาย และแสดงออกมาเป็นภาวะสับสนเฉียบพลันแทน เป็นต้น
  • ความเจ็บปวดไม่สุขสบาย ที่พบได้บ่อย

    • คือ ความเจ็บปวดไม่สุขสบาย อาจจะเกิดจากแผลกดทับ ซึ่งต้องหมั่นสังเกตดู เวลาช่วยอาบน้ำ หรือพลิกตัวผู้ป่วย หรืออาจจะเป็นความไม่สบายตัวที่ดูเล็กน้อยมาก เช่น เล็บขบ ก็ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะสับสนได้ค่ะ   

ภาวะสับสนเฉียบพลัน (delirium) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงในสติปัญญา หรือการรับรู้ความเป็นจริง โดยผู้ป่วยจะสับสน ไม่รู้เวลา ไม่รู้สถานที่ ไม่รู้ตัวเอง หรือไม่รู้ผู้คนที่ดูแล เป็นต้น อาการเพ้อส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินชีวิตปกติได้

เนื่องจากอาการเพ้อสับสน มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคสมองอยู่เดิม ทั้งโรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น แต่ภาวะสับสนนี้ ก็อาจจะถูกกระตุ้นขึ้นโดยปัจจัยต่างๆได้ 

การจัดการกับภาวะสับสนเฉียบพลันเบื้องต้นที่บ้าน

การจัดการกับอาการเพ้อสับสนจึงขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ 

  • หากผู้ป่วยมีอาการเพ้อไม่รุนแรง เพียงแค่สับสนเล็กน้อย เช่น รับรู้ไม่ทันเหตุการณ์ เข้าใจผิด ตอบสนองช้าลงบ้าง ผู้ดูแลสามารถให้การช่วยเหลือที่เหมาะสมที่บ้านก่อนได้ เช่น พูดคุยกับผู้ป่วยด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน พูดเป็นคำสั้นๆ เป็นคำๆ เสียงดังฟังชัดและใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย รูปประโยคไม่ซับซ้อน ค่อยๆอธิบายถึงสภาวะที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ให้ผู้ป่วยได้ทำความเข้าใจ และอารมณ์เย็นลง เป็นต้น
  • หากผู้ป่วยมีอารมณ์ไม่ดี กระสับกระส่าย แต่ไม่ถึงขั้นที่ทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเองหรือผู้อื่น ผู้ดูแลอาจกล่อมให้ผู้ป่วยนอนหลับก่อนได้ แนะนำว่าอาจช่วยเหลือเบื้องต้นโดยการจัดสภาพแวดล้อมในห้องให้เหมาะสม ตอนกลางวันได้รับแสงสว่างเพียงพอ ตอนกลางคืนปิดไฟและผ้าม่านให้มิดชิด ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการค่อยๆบรรเทาลง กรณีนี้อาจไม่จำเป็นต้องพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ก็ได้ 
  • การจัดการด้านอาหารและน้ำ เพื่อให้ได้โภชนาการที่เหมาะสมและป้องกันการสำลักอาหาร 
    • ในช่วงที่ผู้ป่วยมีภาวะสับสน ควรปรับอาหารให้เป็นอาหารอ่อน ที่ย่อยง่าย เพื่อลดการกระตุ้นให้เกิดการสะสมของแก๊สในลำไส้ ท้องอืดเฟ้อ และไม่สบายตัว
    • ดูแลไม่ให้ผู้ป่วยท้องผูก หรือท้องเสีย เพราะอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการเพ้อสับสนได้
    • ระวังเรื่องการสำลักอาหาร เวลาให้ผู้ป่วยทานอาหารเองหรือหากมีความจำเป็นต้องป้อนอาการ ควรให้เวลาผู้ป่วย ไม่รีบเร่ง และจัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในลักษณะท่านั่งตรง ไม่เอนนอนหรือเอียงตัว เพื่อป้องกันการสำลัก
    • จัดดื่มน้ำสะอาด ปริมาณที่เพียงพอ เนื่องจากภาวะขาดน้ำก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเพ้อได้ง่ายเช่นกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อญาติพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ครั้งต่อไปตามนัด ควรแจ้งเหตุการณ์สับสนดังกล่าวและวิธีจัดการที่ได้ทำไปให้แพทย์ได้ทราบด้วย

เพื่อให้แพทย์ได้ทราบสถานะของผู้ป่วย หากมีเหตุการณ์เพ้อสับสนบ่อยครั้งมากขึ้น โดยไม่มีสิ่งกระตุ้นชัดเจน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเสื่อมของสมองที่แย่ลง และควรค้นหาสาเหตุเพิ่มเติมให้ทันท่วงที

เมื่อผู้สูงอายุที่บ้านมีอาการเพ้อสับสน เมื่อไรควรพามาพบแพทย์?

เป็นคำถามที่ผู้ดูแลญาติหรือผู้สูงวัยที่มีโรคสมองเสื่อม หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง มักจะสงสัย... 

1. หากผู้ป่วยมีอาการเพ้อรุนแรง

ลักษณะคือ สับสนมาก ไม่รู้เวลา ไม่รู้สถานที่ ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักญาติผู้ดูแลที่ดูแลกันอยู่ประจำ

2. มีอาการแทรกซ้อน

อาการแทรกซ้อน เช่น มีไข้ ปวดหัว ซึมลง ไม่ค่อยรู้ตัวดี ปัสสาวะราด ในกรณีดังกล่าว ควรพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ก่อนเวลาที่นัดหมาย หรือพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลใกล้บ้านที่แผนกฉุกเฉิน เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุของภาวะสับสนเฉียบพลัน และให้การรักษาที่เหมาะสมทันที

ดังจะเห็นได้ว่า การจัดการกับอาการเพ้อสับสนของผู้ป่วย เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวัง และความเข้าใจของผู้ดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง และไม่กระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยในระยะยาว

เคล็ดลับ ป้องกันภาวะสับสนเฉียบพลัน ช่วงเย็นหรือพลบค่ำในผู้สูงอายุ

เนื่องจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่อาจมีผลกระทบต่อสมรรถภาพทางสมองและความจำของผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลสุขภาพและชีวิตประจำวันให้ดีที่สุด วิธีการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีปัจจัยเสี่ยงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีดังนี้

จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสมและมีความสะดวกสบาย 

  • ไม่ควรจัดเปลี่ยนสถานที่หรือตกแต่งใหม่จนแตกต่างไปจากเดิม เพราะอาจทำให้เกิดความสับสน หรือไม่สามารถจำได้ 
  • หากจำเป็นต้องเปลี่ยนที่อยู่อาศัยใหม่ เช่น ย้ายไปอยู่บ้านใหม่กับลูก หมอแนะนำว่าอาจพกสิ่งของที่คุ้นเคย เช่น รูปภาพติดผนัง นาฬิกาปลุก โต๊ะข้างเตียงคู่เดิม เพื่อสร้างบรรยากาศที่คุ้นเคยให้กับผู้สูงอายุที่เรารัก เป็นต้น
  • จัดแสงให้ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะสับสนเฉียบพลัน ให้ได้ถูกแดดอ่อนๆทุกวันช่วงเช้า เพราะการถูกแดดอ่อนๆ ช่วยให้ผลิตฮอร์โมนเซโรโทนิน เพิ่มความสุขและความผ่อนคลายให้ผู้ป่วย

จัดกิจกรรมให้ผู้มีปัจจัยเสี่ยงได้ทำเป็นประจำ 

กิจกรรมสำหรับผู้สูงวัย
  • ในช่วงกลางวันไม่ควรให้นอนพักเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ผู้ป่วยนอนสั้นลงช่วงกลางคืน หรืออาจถึงขั้นไม่ยอมนอนเลยก็เป็นได้ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเพ้อสับสนช่วงกลางคืนตามมาได้ง่าย 
  • ช่วงกลางวันอาจจัดกิจกรรมที่ผู้ป่วยชอบทำ หรือที่เป็นประโยชน์เล็กๆน้อยๆให้ผู้ป่วยได้มีส่วนร่วม เช่น ทำงานบ้าน เล่นเกม เขียนบันทึกประจำวัน เป็นต้น จะช่วยให้สมองได้รับการกระตุ้นและฝึกความจำ
  • จัดกิจกรรมออกกำลังกายตามที่เหมาะสมกับสุขภาพ และมีการฝึกสมองต่อเนื่องเป็นประจำทุกๆวัน การออกกำลังกายช่วยให้กระแสเลือดไหลถึงสมองได้ดีขึ้น และการฝึกสมองก็ช่วยให้สมองไม่ถูกถดถอยได้

โดยรวมแล้ว การดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีปัจจัยเสี่ยงให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย  มีกิจกรรมที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดภาวะสับสนได้ง่าย จะช่วยให้สมองและความจำของผู้สูงอายุหรือผู้มีปัจจัยเสี่ยง อยู่ในสุขภาวะที่ดีที่สุด และป้องกันอาการเพ้อสับสน และการถดถอยของสมรรถภาพสมองของผู้สูงอายุได้ค่ะ 

Reference:

  • Martin J, et al. Circadian rhythms of agitation in institutionalized patients with Alzheimer’s disease. Chronobiol Int. 2000;17(3):405-418.
  • Weldemichael DA, Grossberg GT. Circadian rhythm disturbances in patients with Alzheimer’s disease: a review. Int J Alzheimers Dis. 2010:716453.
  • Stopa EG, et al. Pathologic evaluation of the human suprachiasmatic nucleus in severe dementia. J Neuropathol Exp Neurol. 1999;58(1):29-39.
  • de Oliveira AM, et al. Nonpharmacological Interventions to Reduce Behavioral and Psychological Symptoms of Dementia: A Systematic Review. Biomed Res Int. 2015:218980.

     

    บทความน่าสนใจ 

    บทความโดย

    หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท