คำแนะนำจากคุณหมอ "5 แนวทาง รับมือผู้สูงอายุปัสสาวะเล็ดราด ตอนนอน"

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary incontinence) คือการมีปัสสาวะเล็ดออกมานอกร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งปัญหานี้ในผู้สูงอายุสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภท 

  • การปัสสาวะเล็ดราดบ่อยครั้งอาจทำให้ผิวหนังเปียกชื้น และเสี่ยงต่อการติดเชื้อของผิวหนัง
  • ผู้สูงอายุที่มีปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ และต้องรีบลุกไปขับถ่าย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน มีผลรบกวนต่อการนอนหลับ และการเดินไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้มและกระดูกหักได้
  • อีกทั้งปัญหานี้ ยังส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกลดคุณค่าในตัวเอง และอาจแยกตัวจากสังคมเนื่องจากกลัวการปัสสาวะเล็ดราดในที่ชุมชน

หากผู้สูงอายุที่บ้านเริ่มสังเกตว่ามีปัญหาการกลั้นปัสสาวะ ปัสสาวะเล็ดราดตอนนอนควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

5 แนวทาง  รับมือผู้สูงอายุปัสสาวะเล็ดราด ตอนนอน

ในบทความนี้หมอขอมาแนะนำ5 แนวทาง รับมือผู้สูงอายุปัสสาวะเล็ดราด ตอนนอน เพื่อลดปัญหาปัสสาวะราด ในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดสมองแตกที่ยังไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายเองได้ค่ะ

5 แนวทางรับมือ ป้องกันไม่ให้คนไข้ปัสสาวะเล็ดราดตอนนอน

  • ฝึกขับถ่ายปัสสาวะเป็นเวลา (timed voiding) เช่น ทุก 2 ชั่วโมง 
  • ถ้าควบคุมได้ จึง ค่อยเพิ่มระยะเวลาเป็นทุก 4 ชั่วโมงจนสามารถขับถ่ายได้ปกติ 
  • ถ้าผู้ป่วยพูดไม่ได้ต้องฝึกการสื่อสารกับผู้ป่วยโดยสอบถามเปนระยะ ๆ ว่ารู้สึกปวดอยากขับถ่ายปัสสาวะหรือไม่ 
  • งดน้ำดื่มเวลากลางคืน หลังพระอาทิตย์ตกดิน หากต้องทานยาโรคประจำตัว อาจดื่มเพียงจิบปริมาณน้อยเท่านั้น
  • ถ้าการฝึกไม่ได้ผล ยังเล็ดราด อาจให้ยาที่มีฤทธิ์ anticholinergic เช่น amitriptyline, oxybutynin, oxyphencyclimine เป็นต้น โดยต้องอยู่ในคำแนะนำของแพทย์ในการจ่ายยา เนื่องจากต้องมีการติดตาม ปรับยา และหากไม่จำเป็นต้องทานยาอีกต่อไปแล้ว ก็จะได้ทราบได้ว่า สามารถหยุดยาได้ ไม่แนะนำให้ซื้อยาทานเอง เนื่องจากยาเหล่านี้มีฤทธิ์ง่วงซึมหรือผลข้างเคียงอื่นที่ต้องระมัดระวังในการใช้ด้วย 

หากลอง 5 แนวทางดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือไม่สามารถบอกได้ว่าปวดปัสสาวะ อาจใช้วิธี

  • ใส่แพมเพิส และกำหนดเวลาเปลี่ยนแพมเพิสตามรอบเวลา เช่น ทุก 6 ชั่วโมง ก่อนเข้านอน ปัสสาวะจะได้ไม่เปียกแพมเพิสและส่งกลิ่นเหม็นอับติดตัวผู้ป่วย และห้องนอน ส่งกลิ่น สร้างบรรยากาศที่ไม่พึงประสงค์ในบ้าน
  • ใช้ผ้ารองซับในผู้ป่วยทั้งสองเพศ
  • ใช้ถุงกักเก็บปสสาวะแทนในผู้ป่วยชาย

สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดสมองแตกอาจประสบปัญหา การขับปัสสาวะของผู้ป่วยที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงแรกของโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะ หรือไม่ต้องใส่สายแต่มีปัสสาวะเล็ด กลั้นไม่อยู่ เป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้ส่วนมากมักพบในช่วงแรกของโรค ใช้เวลาสัก1-2 เดือน การควบคุมปัสสาวะมักจะกลับมาสู่ภาวะปกติค่ะ 

ปัญหาการขับปัสสาวะของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ปัญหาการขับปัสสาวะของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไปตามสเต็ป ได้ที่บทความนี้ >> คลิกอ่านเพิ่มเติม

บทความอื่นเกี่ยวกับการดูแลการขับถ่ายในผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ในการนำไปปรับใช้ที่บ้าน และหมอขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วย/ผู้ดูแลผู้สูงอายุทุกท่านค่ะ 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท