วิธีการให้อาหารทางสายยาง มีกี่วิธี ?

การให้อาหารทางสายยางเป็นวิธีการช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถกลืนอาหารได้ปกติ ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่การให้อาหารทางสายยางนั้น ต้องทำอย่างถูกวิธี และระมัดระวังความปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น 

วิธีการให้อาหารทางสายยาง มีกี่วิธี

วิธีการให้อาหารทางสายยางที่นิยมในปัจจุบัน มีทั้งสิ้นสองวิธี ได้แก่ 

  • วิธีให้อาหารไหลลงมาเองตามแรงโน้ม (bolus method)

  • วิธีแบบหยด (drip method)

เราไปทำความรู้จักวิธีการให้อาหารทางสายยางแต่ละวิธี จะได้เลือกใช้ได้เหมาะสมกันเลยค่ะ^^

วิธีการให้อาหารทางสายยาง มีกี่วิธี
  • วิธีให้อาหารไหลลงมาเองตามแรงโน้ม (bolus method)

    1. ต่อกระบอกให้อาหารกับสายยางให้อาหาร(นำกระบอกสูบออก ใช้เฉพาะด้านนอก)
    2. พับสายอาหารไว้ เทอาหารให้เต็มกระบอก
    3. ยกกระบอกให้อาหารให้สูงกว่าตำแหน่งให้อาหารประมาณ 30 เซนติเมตร ปล่อยสายให้อาหารที่พับไว้ให้อาหารเหลวไหวผ่านลงตามสาย อาหารจะไหลลงมาเองตามแรงโน้มถ่วง
    4. เมื่ออาหารใกล้หมด ค่อยๆเติมอาหารโดยลดระดับกระบอกอาหาร หักพับสายให้อาหารระหว่างที่ทำการเติมอาหาร (เพื่อป้องกันอากาศเข้า) แล้วจึงปล่อยสายแล้วยกกระบอกอาหารสูงขึ้นจนครบจำนวนที่กำหนดไว้ 
    5. ให้น้ำตามปริมาณ 50-100 มิลลิลิตร (ยกเว้นในรายที่จำกัดปริมาณน้ำดื่ม)
  • วิธีแบบหยด (drip method)

    1. เทอาหารใส่ขวดหรือถุงของชุดให้อาหารทางสายยาง ต่อขวดหรือถุงใหอ้าหารทางสายยางกับชุดอาหาร
    2. หักพับหรือปิดสายของชุดให้อาหาร แล้วนำขวดหรือถุงให้อาหารแขวนที่ตะขอแขวน
    3. ปล่อยให้อาหารไหลลงให้เต็มสายให้อาหารถือค้างไว้
    4. ต่อสายชุดให้อาหารกับสายอาหารต่อตัวผู้ป่วยและปล่อยให้อาหารไหลผ่านสาย ดังนี้

4.1 กรณีแบบหยดเป็นมือ ปรับอัตราการไหลให้หมดภายใน 1 – 2 ชั่วโมงหรือตามแผนการรักษา

4.2 กรณีให้แบบต่อเนื่อง ต่อสายเข้ากับเครื่องดริปอาหารเหลวทางการแพทย์ หรือเครื่องปรับอัตราการไหล แล้วเปิดเครื่อง ปรับและตรวจสอบอัตราการไหลเป็นระยะ

5. ให้น้ำตามปริมาณ 50-100 มิลลิลิตร (ยกเว้นในรายที่จำกัดปริมาณน้ำดื่ม)

ในกรณีผู้ป่วยที่ไม่มีปัญหาการรับอาหาร ไม่มีท้องอืด หรือมีอาหารเหลือค้างในสาย (ก่อนเริ่มให้อาหาร) หมอแนะนำให้ผู้ดูแลหรือญาติที่บ้านสามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสม ขึ้นกับอุปกรณ์ที่มีได้ทั้งสองวิธีเลยค่ะ

แต่หากผู้ป่วยมีภาวะดังนี้ 

  • ท้องอืดโต ผูป่วยรู้สึกแน่นท้องหลังได้รับอาหารทางสายยางหรือก่อนเริ่มมื้อถัดไป
  • เมื่อดูดอาหารก่อนมื้อถัดไป พบอาหารเหลือค้างในสายปริมาณมาก 

หมอขอแนะนำให้เลือกใช้วิธีแบบหยดจะเหมาะสมกว่าค่ะ เพราะสามารถกำหนดความเร็วของการปล่อยอาหารเหลวได้ ลดภาวะแทรกซ้อนสองข้อ ดังที่ได้กล่าวไปค่ะ 

อ่านเพิ่มเติม

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท