ผู้ป่วยจะสามารถกลับไปทานทางปากได้เหมือนเดิมหรือไม่ ?
ญาติหลายท่านเวลากลับมาตรวจที่คลินิก จะถามหมอว่า ผู้ป่วยที่ต้องให้อาหารทางสายยางจะสามารถกลับไปทานทางปากได้เหมือนเดิมหรือไม่ หรือว่าต้องรับอาหารทางสายยางไปตลอด? ท่านผู้อ่านคิดว่าอย่างไรกันบ้าง เรามาลองดูเหตุผลกันค่ะ
สาเหตุที่แพทย์แนะนำให้ใส่สายยางให้อาหาร
มักเกิดจากผู้ป่วยยังไม่พร้อม ไม่สามารถทานอาหารได้เอง เนื่องด้วยสาเหตุหลักๆ 4 ข้อ
- ปัญหาผู้ป่วยยังมีความรู้สึกตัวตื่นไม่ดีหรือผู้ป่วยมีภาวะอ่อนเพลียจากการเจ็บป่วย
- ปัญหาผู้ป่วยมีภาวะกลืนลำบาก
- ปัญหาผู้ป่วยมีเสมหะเยอะ
- ปัญหาของระบบร่างกายยังทำงานได้ไม่เต็มที่ เช่น ผู้ป่วยหลังผ่าตัดอวัยวะเกี่ยวกับทางเดินอาหารและช่องท้อง เป็นต้น
การใส่สายยางให้อาหารในช่วงแรกของความเจ็บป่วย จนกว่าจะฟื้นตัวดี และเริ่มฝึกการกลืน ฝึกการเคี้ยวอาหารจึง เป็นวิธีการรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนในช่วงต้นได้ดีกว่า อีกทั้งอาหารทางสายยางนั้น ยังสามารถกำหนดคุณค่าทางสารอาหารให้ครบมากกว่าการป้อน อาหารผู้ป่วยซึ่งมักยังทานได้น้อย ไม่อยากอาหารและมีภาวะกลืนลำบาก
ในช่วงต้น ญาติหรือผู้ดูแลที่ต้องให้อาหารผ่านทางสายยาง ควรเรียนรู้วิธีการให้อาหารทางสายยาง อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมพร้อม และข้อควรระวังในการให้อาหารทางสายยางแก่ผู้ป่วยไว้ล่วงหน้าก่อนรับผู้ป่วยกลับบ้าน รวมถึงควรไปฝึกปฏิบัติจริงพร้อมพยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยก่อนรับกลับบ้าน
หลังจากกลับบ้านไป หมอขอแนะนำให้คนไข้หมั่นทำกายภาพบำบัดฝึกกลืน มีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะในช่วง 3-6 เดือนแรก...
จะมีการฝึกลิ้น ให้มีกำลัง สามารถเคี้ยวดุน กลืนอาหารได้ดีขึ้น
จากนั้นเมื่อผ่านพ้นช่วงเจ็บป่วยเฉียบพลันแล้ว จึงปรึกษาหมอเพื่อประเมินดูว่าผู้ป่วยสามารถกลับมากลืนอาหารได้ด้วยตัวเองหรือไม่ โดยนักกายภาพบำบัดฝึกกลืนจะค่อยๆทดสอบอาหารประเภทต่างๆ ที่มีความเหลว/ความหนืดแตกต่างกัน ปริมาณน้อยๆก่อน และเพิ่มไปจนถึงปริมาณที่มากขึ้น เพื่อประเมินความพร้อมในการถอดสายยางให้อาหาร
หากประเมินผ่าน ว่าปลอดภัย
- สามารถทานเองทางปากได้ จึงค่อยถอดออกค่ะ
- การทำกายภาพบำบัดจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อลิ้น กล้ามเนื้อลำคอ การกลืนที่ดี ในเวลาที่เหมาะสมจะสามารถป้องกันการสำลักอาหาร
อย่างไรก็ตาม
หากผู้ป่วยไม่ผ่านการประเมินการกลืน
หมอแนะนำว่า ญาติยังไม่ควรเร่งให้ผู้ป่วยทานอาหารเองทางปาก เพราะจะเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร ทำให้เกิดการติดเชื้อในปอด เกิดโรคปอดอักเสบ และอันตรายถึงเสียชีวิตได้ค่ะ
อ่านเพิ่มเติม
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท