รู้หรือไม่ ทำไมต้องให้อาหารทางสายยาง ?

หลายๆครั้งญาติผู้ดูแลคงสงสัยว่า ทำไมหลังเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ผู้ป่วยถึงไม่สามารถกลับไปทานอาหารเองได้ตามปกติ จำเป็นต้องใส่สายยางให้อาหาร หรือบางท่านอาจต้องเปลี่ยนไปทานอาหารผ่านสายยางทางหน้าท้อง 

ทำไมต้องให้อาหารทางสายยาง

สาเหตุที่แพทย์แนะนำเช่นนั้นมักเกิดจากผู้ป่วยยังไม่พร้อม ไม่สามารถทานอาหารได้เอง เนื่องด้วยสาเหตุ 4 ข้อดังนี้

1. ปัญหาผู้ป่วยยังมีความรู้สึกตัวตื่นไม่ดีหรือผู้ป่วยมีภาวะอ่อนเพลียจากการเจ็บป่วย

ในช่วงที่ร่างกายกำลังต้องต่อสู้กับความเจ็บป่วยและตัวโรค ผู้ป่วยที่ยังมีปัญหาความรู้สึกตัวที่ไม่ดี ยังมีภาวะอ่อนเพลียจากการเจ็บป่วยจะยังไม่สามารถกลับมาเคี้ยวกลืนได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเสี่ยงต่อการสำลักรวมถึงมักประสบภาวะขาดสารอาหาร การปล่อยให้ผู้ป่วยทานอาหารเฉพาะตอนตื่นเท่านั้น จะทำให้ผู้ป่วยประสบภาวะขาดสารอาหารและไม่สามารถบำรุงร่างกายให้มีพลังงานเพียงพอต่อการฟื้นฟูร่างกายได้ อีกทั้งขณะที่ยังกึ่งหลับกึ่งตื่นแต่ถึงมื้ออาหารที่ต้องทานแล้ว การทานอาหารด้วยวิธีป้อน ณ ขณะนั้น พบว่ามีวามเสี่ยงต่อการสำลักมากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ตื่นดีและผ่านพ้นช่วงความเจ็บป่วยช่วงแรกที่ฟื้นตัวขึ้นมาดีแล้วอีกด้วย 

2. ปัญหาผู้ป่วยมีภาวะกลืนลำบาก 

ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันหลังนอนโรงพยาบาล เนื่องจากสมองที่ควบคุมการกลืน การพูดนั้นเป็นส่วนที่ทำงานสัมพันธ์กัน จึงพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันมีสำลักได้บ่อย โดยเฉพาะน้ำ หรืออาหารเหลว การสำลักอาหารในผู้ป่วยและผู้สูงอายุนั้น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคปอดอักเสบ ติดเชื้อจากการสำลักอาหารได้มาก และเป็นสาเหตุการนอนโรงพยาบาลอันดับต้นๆในผู้สูงวัย 

3. ปัญหาผู้ป่วยมีเสมหะเยอะ 

เนื่องจากผู้ป่วยและผู้สูงอายุมักมีปัญหาในการไอขับเสมหะได้ลำบากกว่าคนวัยหนุ่มสาว อีกทั้งผู้ป่วยบางรายหลังกลับจากโรงพยาบาลไป ยังต้องได้รับการดูดเสมหะอยู่บ่อยๆทุก 4-6 ชั่วโมง ปัญหาเสมหะเยอะมักสัมพันธ์กับปัญหาการควบคุมอวัยวะในการเคี้ยวกลืนเช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้ แพทย์จึงมักแนะนำให้รักษาปัญหาเรื่องเสมหะให้ดีก่อน จึงเริ่มทำการฝึกกลืนทางปาก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนคือการสำลักอาหารลงหลอดลมและปอดนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม: เทคนิคดูแลผู้ป่วยเสมหะเยอะ&วิธีทำกายภาพขับเสมหะ

เทคนิคดูแลผู้ป่วยเสมหะเยอะ&วิธีทำกายภาพขับเสมหะ

4. ปัญหาของระบบร่างกายยังทำงานได้ไม่เต็มที่

เช่น ผู้ป่วยหลังผ่าตัดอวัยวะเกี่ยวกับทางเดินอาหารและช่องท้อง เป็นต้น

การใส่สายยางให้อาหารในช่วงแรกของความเจ็บป่วย จนกว่าจะฟื้นตัวดี และเริ่มฝึกการกลืน ฝึกการเคี้ยวอาหารจึงเป็นวิธีการรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนในช่วงต้นได้ดีกว่า อีกทั้งอาหารทางสายยางนั้นยังสามารถกำหนดคุณค่าทางสารอาหารให้ครบมากกว่าการป้อนอาหารผู้ป่วยซึ่งมักยังทานได้น้อย ไม่อยากอาหารและมีภาวะกลืนลำบาก

ญาติหรือผู้ดูแลที่ต้องให้อาหารผ่านทางสายยาง ควรเรียนรู้วิธีการให้อาหารทางสายยาง อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมพร้อม และข้อควรระวังในการให้อาหารทางสายยางแก่ผู้ป่วยไว้ล่วงหน้าก่อนรับผู้ป่วยกลับบ้าน รวมถึงควรไปฝึกปฏิบัติจริงพร้อมพยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยก่อนรับกลับบ้าน 

 อ่านเพิ่มเติม

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท