Q&A ญาติจำเป็นต้องซื้อ "เครื่องให้อาหารทางสายยาง" หรือไม่ ?
ญาติผู้ป่วยหลายท่านมาสอบถามหมอว่า จำเป็นต้องซื้อเครื่องให้อาหารทางสายยางหรือ ที่เรียกกันสั้นๆว่า Feeding pump หรือไม่ วันนี้หมอจะมาแชร์ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ให้ลองอ่านกันค่ะ
วิธีดั้งเดิมในการให้อาหารผู้ป่วยทางสายยาง
จะใช้วิธีแขวนถุงอาหารแล้วปล่อยไหลตามแรงโน้มถ่วง ซึ่งการปล่อยไหลตามแรงโน้มถ่วง โดยทั่วไปมักจะไหลลงมาหมดภายใน 15-30 นาที ขึ้นอยู่กับความหนืด-เหลวของอาหารปั่นนั้นๆ ความสูงของการแขวนถุงอาหาร ปริมาณอาหารทั้งหมดที่ฟีด เป็นต้น
วิธีนี้ข้อดี
- สะดวก
- ประหยัดค่าอุปกรณ์
- ไม่ต้องซื้อเครื่องหรือสายข้อต่อเพิ่มเติมในการดริปอาหารฟีดแก่ผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายท่านประสบภาวะท้องอืด อาเจียนบ่อยหลังได้อาหารปั่นทางสายยาง ส่วนหนึ่งเกิดจาก อาหารที่ได้รับนั้น ลงสู่กระเพาะเร็วเกินไป กระเพาะไม่สามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารได้ทัน จึงเกิดการท้น และสำลัก อาเจียนอาหารที่เพิ่งได้รับเข้าไปนั้นออกมา
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวิธีการให้อาหารทางสายยางที่ดีขึ้น สามารถกำหนดอัตราการไหลของอาหารปั่นได้ กำหนดเวลา ปริมาณ โดยไม่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญของผู้ดูแลมากนัก
วิธีใช้เครื่องดริปให้อาหารทางสายยาง
- เครื่องให้อาหารทางสายยางเป็นเครื่องที่ สามารถควบคุมความเร็วและคุมปริมาณอาหารให้แก่ผู้ป่วยได้ การให้ในอัตราที่ช้าลง แบบกำหนดได้ เช่น ดริปอาหารใน 2 ชั่วโมงนั้น จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาท้องอืด อาเจียน สำลักบ่อยหลังได้อาหารปั่นทางสายยาง
- เครื่องให้อาหารทางสายยางสามารถลดอาการเหล่านี้ได้ดีกว่าการให้อาหารทางสายยางโดยแขวนถุงอาหารแล้วปล่อยไหลตามแรงโน้มถ่วง เมื่อผู้ป่วยได้รับอาหารเต็มที่ตามที่แพทย์กำหนด ไม่เหลือค้าง / อาเจียนออกมาเสียทิ้ง ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับคุณค่าทางโภชนาการที่ดีขึ้น
- นอกจากนี้ การใช้เครื่องให้อาหารทางสายยาง ยังลดระยะเวลาการดูแลผู้ป่วย ให้ญาติได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น หากนับแล้วในการให้อาหาร 4 มื้อ มื้อละ 2 ชั่วโมง ก็นับว่าคุ้มค่าในการประหยัดเวลาการเฝ้าผู้ป่วยไปได้ถึง 8 ชั่วโมงเลยทีเดียวค่ะ
การให้อาหารทางสายยางมีขั้นตอนและวิธีการที่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาล เพื่อให้การให้อาหารผ่านสายยางเป็นไปอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
ญาติบางท่าน อาจคิดว่าการให้อาหารทางสายยาง ต้องมาใช้เครื่องให้อาหาร จะทำให้ผู้ป่วยไม่สุขสบาย ไม่สะดวก หรือมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี
แต่จริงๆแล้ว การให้อาหารทางสายยางเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่จำเป็น เพื่อช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพ และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนจากภาวะขาดสารอาหารและทุพโภชนาการได้
อ่านเพิ่มเติม
- แนะนำข้อมูล-การใช้สายยางให้อาหารในผู้ป่วย
- อุปกรณ์สำหรับใส่สายยางให้อาหารผู้ป่วยทางจมูก (พร้อมภาพประกอบ)
- รู้ทัน ป้องกันได้ !! อาการสำลักขณะหรือหลังให้อาหารทางสายยาง
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท