ข้อมูลเบื้องต้น-สายยางให้อาหารผ่านทางหน้าท้อง

แม้ว่าการให้อาหารทางสายยางทางจมูก (NG tube) เป็นเทคนิคที่ได้รับการพิสูจน์มายาวนานแล้วว่าสามารถใช้ในการให้สารอาหารทางสายยางได้ "ง่ายและแพร่หลาย" มักเป็นทางเลือกการให้อาหารทางสายยาง "แบบแรก" ในกลุ่มคนไข้ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เอง ส่วนใหญ่สายยางให้อาหารทางจมูกนี้จะใส่ในคนไข้ระยะเวลาไม่เกิน 4 สัปดาห์ ไม่ควรใช้นานเกิน 4-6 สัปดาห์ เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ แต่ถ้าคนไข้จำเป็นต้องได้รับอาหารทางสายยาง แพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนสายให้อาหารแบบสายให้อาหารแบบหน้าท้อง (PEG tube) เพื่อลดการอักเสบบริเวณช่องเยื่อบุจมูกและคอ 

สายยางให้อาหารผ่านทางหน้าท้อง

วันนี้หมอจึงขอมาให้ข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับสายยางให้อาหารผ่านทางหน้าท้อง  (PEG; Percutaneous gastrostomy feeding) เพื่อประกอบการตัดสินใจให้ญาติทุกท่านได้เข้าใจกันค่ะ

  • การให้อาหารทางสายยางสามารถปรับปรุงภาวะโภชนาการและการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบากเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บที่ศีรษะ และโรคทางประสาทและกล้ามเนื้อ ตั้งแต่การพัฒนา gastrostomy ส่องกล้องผ่านผิวหนัง (PEG) ในปี 1980 โดย Gauderer และคณะ
  • หลังจากนั้น การสอดสายทางเดินอาหารเข้าไปในกระเพาะอาหารโดยตรงผ่านผนังช่องท้อง (PEG; Percutaneous gastrostomy tubes)  โดยใช้วิธีการส่องกล้อง ก็ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย
  • เป็นขั้นตอนทั่วไปสำหรับการให้สารอาหารทางกระเพาะระยะยาวในผู้ป่วยสูงอายุ 
  • โดยการผ่าตัดเป็นการผ่าตัดเล็ก ใช้วิธีการส่องกล้อง และไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ ใช้เพียงการฉีดยาชา นับว่าเป้นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัย มีความเสี่ยงต่อปัญหาขณะ/หลังการผ่าตัดต่ำ
ให้อาหารผ่านสายยางทางหน้าท้อง PEG

ขั้นตอนการดูแลหลังผ่าตัด โดยคร่าว เพื่อประกอบการตัดสินใจของญาติ

  • ระยะ 1-2 สัปดาห์แรกหลังใส่สายให้อาหารครั้งแรก
    • ควรทำความสะอาดแผลทุกวันโดยใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำเกลือ เช็ดรอบแผลจนสะอาด ซับให้แห้ง แล้ววางผ้าก๊อซปราศจากเชื้อทั้งสองข้าง จากนั้นแปะพลาสเตอร์ชิดตัวสายให้ตั้งฉาก เพื่อตรึงไม่ให้สายโยกขยับระหว่างวัน
  • เมื่อแผลแห้ง สามารถอาบน้ำได้ ทำกิจกรรมอื่นๆได้ตามปกติ 
    • โดยให้ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำเกลือหรือน้ำต้มสุก เช็ดปิดแผลอีกครั้งหลังอาบน้ำ ควรหลีกเลี่ยงการทาเเป้งฝุ่นบริเวณแป้นหน้าท้อง
  • ควรทำความสะอาดสายด้วยน้ำเปล่าประมาณ 30-50 ซีซี
    • อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และสายควรเปลี่ยนทุกๆ 6 เดือน
  • มาพบแพทย์ตามคำแนะนำ 
    • ทุกประมาณ 3-6 เดือน เพื่อดูแล เช็คแผล และเปลี่ยนสาย

ข้อแนะนำอื่นๆ 

  • แม้จะใส่ PEG แต่หากผู้ป่วยสามารถกินอาหารทางปากได้ ก็ให้ทานทางปากตามปกติ
  • ยังคงต้องทำความสะอาด ปาก ลิ้น และฟัน ของผู้ป่วยทุกวันถึงแม้จะไม่ได้ให้อาหารทางปาก เพื่อสุขอนามัยช่องปากที่ดี

Reference

  • บทความทางการแพทย์ สายให้อาหารทางหน้าท้อง (PERCUTANEOUS ENDOSCOPIC GASTROSTOMY) โดยสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย

 

บทความน่าสนใจ

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท