ใครมีความเสี่ยง? เกิดภาวะสับสนเฉียบพลัน

ภาวะสับสนเฉียบพลัน (delirium) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงในสติปัญญา หรือการรับรู้ความเป็นจริง โดยผู้ป่วยจะสับสน ไม่รู้เวลา ไม่รู้สถานที่ ไม่รู้ตัวเอง หรือไม่รู้ผู้คนที่ดูแล เป็นต้น อาการเพ้อส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินชีวิตปกติได้

ภาวะสับสนเฉียบพลัน

เนื่องจากอาการเพ้อสับสน มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคสมองอยู่เดิม ทั้งโรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น แต่ภาวะสับสนนี้ ก็อาจจะถูกกระตุ้นขึ้นโดยปัจจัยต่างๆได้ 

ใครบ้างมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันดังกล่าว ?

  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีการเสื่อมของระบบประสาทและร่างกาย
  • ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม หรือโรคสมองอื่นๆ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
  • ผู้ที่เคยมีอาการสับสนเฉียบพลันมาก่อน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพบว่ามีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนที่อยู่อาศัย ไปอยู่บ้านญาติ สถานที่ๆไม่คุ้นเคย
  • ผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้า เนื่องจากมีการลดลงของสารหลั่งในสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำและความตื่นตัว
  • ผู้ที่มีการมองเห็นผิดปกติ เช่น ผู้ที่มีต้อกระจก สายตาฝ้าฟาง อาจมีภาวะสับสนแบบเห็นภาพหลอน เห็นคนตาย 
  • ผู้ที่มีการได้ยินผิดปกติ มีหูอื้อหูตึง อาจเกิดหูแว่ว ได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่จริงได้ง่าย 
  • ผู้ที่สูญเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง เช่น เดิน เคลื่อนไหว เป็นต้น
  • ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด หรือนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวรุนแรง หรือเจ็บป่วยในระยะสุดท้าย เป็นต้น

การจัดการกับอาการเพ้อสับสนของผู้ป่วย เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวัง และความเข้าใจของผู้ดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง และไม่กระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยในระยะยาว

บทความน่าสนใจ 

 

บทความโดย

หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท