นอนไม่หลับเพราะอะไร รู้หรือไม่ว่าอาจเป็นอาการเตือนของโรคทางสมอง!
การนอนไม่หลับอาจเป็นอาการเตือนของโรคทางสมองที่สมควรได้รับการตรวจพบและแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินไป บทความนี้หมอจะมาแนะนำการตรวจสอบตนเอง ว่าสาเหตุการนอนไม่หลับของท่านผู้อ่านแต่ละท่านเกิดจากอะไร ควรได้เร่งแก้ไข เพราะภาวะนอนไม่หลับนั้นส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจในระยะยาว
สาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ แบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ
1. เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามวัย
โดยปกติเมื่อมนุษย์อายุเยอะขึ้น สมองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมเหมือนเช่น
อวัยวะอื่น เกิดจากการสะสมของเสียในสมอง คราบโปรตีนๆต่างๆที่ไม่สามารถกำจัดออกได้ หรือกำจัดออกได้แต่ทำได้น้อยลงกว่าเมื่อวัยเด็กหรือหนุ่มสาว
ลักษณะการนอนของผู้สูงอายุจะมีลักษณะโดยธรรมชาติ
- ใช้เวลานานขึ้นหลังจากเข้านอนเพื่อที่จะหลับ
- ช่วงระยะที่หลับแบบตื้น (ตอนที่กำลังเคลิ้มๆแต่ยังไม่หลับสนิท) จะยาวขึ้น
- ช่วงระยะที่หลับสนิทจริงๆ จะลดลง
- จะมีการตื่นกลางดึกบ่อยขึ้น
- ระยะเวลาของการนอนตอนกลางคืนจะลดลงระยะเวลาของการนอนตอนกลางคืนจะลดลง
ดังนั้นผู้สูงอายุแม้จะมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ สมวัย ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองนอนน้อยลง และมักมาปรึกษาหมอว่านอนไม่หลับ อย่างไรก็ตาม
มีข้อที่น่าสังเกตคือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้แม้จะดูเหมือนว่า "นอนน้อย นอนไม่หลับ" แต่ช่วงกลางวันก็มักจะไม่มีอาการง่วงเหงาหาวนอนแต่อย่างใด ดังนั้นจริงๆแล้ว ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องไปทานยาหรือหาอาหารเสริมใดมาทำให้หลับไปมากขึ้น
2. เกิดเนื่องจากมีโรคที่เป็นปัญหาช่อนอยู่ ได้แก่
-
จากยาที่ผู้สูงอายุกำลังใช้อยู่
ยาบางประเภทโดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ เช่น การใช้ยานอนหลับที่ออกฤทธิ์นาน ยารักษาอาการสั่นเคลื่อนไหวช้าในโรคพาร์กินสัน
บางครั้งอาจเป็นส่วนผสมของยารักษาโรคอื่นที่ไม่เกี่ยวกับทางสมองเลย เช่น ส่วนผสมของแอลกอฮอลล์ในยาน้ำแก้ไอ หรือ คาเฟอีนที่ผสมในยารักษาโรคหวัด เป็นต้น เมื่อผู้สูงอายุหยุดการใช้ยาเหล่านี้ อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง
ข้อควรระวัง
หลายครั้งที่ผู้ป่วยนอนไม่หลับ จะไปซื้อยาจากร้านขายยามาเพื่อทำให้หลับ แต่รู้หรือไม่ว่า ยานอนหลับที่วางขายทั่วไปนั้น แม้ทำให้หลับได้แน่ แต่วงจรการนอนหลับ กระบวนการนอนหลับของสมองขณะหลับอยู่นั้นไม่ได้ดีตาม ซึ่งวงจรนอนหลับที่ไม่ดี สมองจะไม่สามารถทำหน้าที่กำจัดของเสียช่วงนอนได้ จึงไม่ได้ส่งเสริมสุขภาพสมองในระยะยาว
-
โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ
ผู้สูงอายุที่มีโรคใดก็ตามที่ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยๆ ตอนกลางคืน ก็จะมีผลต่อการนอนด้วย เช่น โรคเบาหวาน จะทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณปัสสาวะมาก โรคต่อมลูกหมากโตในผู้สูงอายุชาย โรคไตวายเรื้อรัง หรือแม้แต่การใช้ยาขับปัสสาวะในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหรือภาวะหัวใจวาย ก็ทำให้มีปัสสาวะตอนกลางคืนได้บ่อย
ผู้สูงอายุที่มีปัญหาดังกล่าว หมอแนะนำให้เลี่ยงการดื่มน้ำช่วงก่อนนอน อาจแก้ปัญหาได้ง่ายๆ โดยตนเอง
-
ความเจ็บปวด
ความเจ็บปวดทางกาย ไม่ว่าจากอวัยวะใด จะมีผลทางอ้อมต่อการนอนหลับในผู้สูงอายุเสมอ ที่พบบ่อยมักเกิดจาก โรคของกระดูกและข้อเสื่อมที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเรื้อรังได้ เช่น ข้อเข้าเสื่อม กระดูกคอเสื่อม เป็นต้น นอกจากนั้นอาการเจ็บปวดอาจเกิดจากอวัยวะภายในช่องท้อง เช่น ท้องผูก แน่นท้อง อาการไม่ย่อย เป็นต้น
-
โรคสมองเสื่อมและภาวะจิตผิดปกติ
- ผู้สูงอายุที่เริ่มมีสมองเสื่อม นอกจากอาการขี้หลงขี้ลืม ในระยะแรกอาจมีอาการนอนไม่หลับได้
- นอกจากนี้ สาเหตุของสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไทย ส่วนหนึ่งมักเกิดจากการโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดซ้ำกันหลายๆครั้ง ทั้งที่อาจจะมีหรือไม่มีอาการอัมพาตแสดงออกมาให้เห็น ร่วมด้วยก็ได้
- นอกจากนั้นภาวะซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุของการนอนยากในผู้สูงอายุได้ โดยผู้ป่วยมักจะมีลักษณะที่เข้านอนได้ตามปกติ แต่ตื่นขึ้นกลางดึกเช่น ตี 3-4 แล้วไม่สามารถนอนต่อได้อีก
ทั้งหมดนี้แสดงถึงขนาดของปัญหานอนไม่หลับและความรุนแรงของอาการที่ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาสนใจอย่างจริงจัง
โดยเริ่มต้นจากการรู้จักปัญหาของตนเองก่อนว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เพื่อจะไปแก้ไขให้ตรงจุดกันนะคะ
บทความน่าสนใจ
- หลับให้ดี...ดีอย่างไร
- วิธีการวินิจฉัยปัญหาการนอนหลับด้วยตนเองที่บ้านอย่างง่าย เช็คเลย!
- ผลกระทบของปัญหาการนอนหลับต่อผู้ป่วยและผู้ดูแล
- 13 ข้อปฏิบัติ ช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้
บทความโดย
หมอมิ้นท์ พญ.วรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและระบบประสาท